ประวัติความเป็นมา

เขตหนองจอก  แต่เดิมเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนอาศัย  ชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ ก็เรียกกันตามลักษณะภูมิประเทศในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา   เป็นแม่กองจ้างชาวจีนขุดลอกคลองขยายการคมนาคมทางน้ำและเพื่อประโยชน์ทางด้าน ยุทธศาสตร์เริ่มตั้งแต่ปลายคลองพระโขนงหรือคลองตันในปัจจุบันไปบรรจบคลองบางขนาก  เมื่อขุดเสร็จแล้ว เรียกว่า  “คลองเจ๊ก” เพราะเป็นคลองที่ชาวจีนขุดขึ้น  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่าคลองแสนแสบ  เมื่อขุดคลองเสร็จและหมดภาระศึกสงครามระหว่างไทยกับเขมรแล้ว ทางราชการได้อพยพชาวไทยมุสลิมมาจากบริเวณ  7  หัวเมืองภาคใต้  มาตั้งรกรากทำมาหากินตามบริเวณแนวคลองแสนแสบและในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง  ก็ได้อพยพชาวลาวที่กวาดต้อนเป็นเชลยให้มาทำกินตามบริเวณคลองแสนแสบเช่นกัน

ต่อมาได้มีการจัดตั้งบริษัทคูสยามขึ้น และได้รับสัมปทานให้ขุดคลองต่าง ๆ  เพื่อประโยชน์แก่การกสิกรรมมีการขุดคลองต่างๆ แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าจับจองที่ดิน จึงมีผู้อพยพจากที่อื่นเข้าไปอาศัยตามลำคลองสายต่างๆ เพื่อตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกระจายอยู่ทั่วไปต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้จัดการปกครองเป็นหมู่บ้าน ตำบล ตามระเบียบการปกครองสมัยนั้น เมื่อประชาชนมากขึ้นทางราชการได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ในสมัยพระยาเพชรปราณีสีหราชรองเมืองเป็นสมุหนครบาล เมื่อประมาณ พ.ศ. 2440 ได้ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ปากบึงหนองจอกฝั่งใต้ของคลองแสนแสบ

ปี ร.ศ.121 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ยก 4 อำเภอ คือ อำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอเจียรดับ และอำเภอหนองจอก ขึ้นเป็นเมืองใหม่โดยพระราชทานนามว่า เมืองมีนบุรี

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2473-2474  มีเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั่วโลก  ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนต่อประเทศไทยด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่า “เศรษฐกิจตกต่ำ” ทำให้เกิดข้าวยากหมากแพง และกระทบกระเทือนงบประมาณแผ่นดินของประเทศขณะนั้นอย่างหนัก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7  ได้โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเหตุการณ์โดยยุบเลิก  หรือรวบรวมกองต่าง ๆ ในส่วนกลาง และยุบมณฑลจังหวัดและสถานที่หรือส่วนราชการบางแห่ง จังหวัดมีนบุรีถูกยุบให้มารวมเข้ากับจังหวัดพระนครขึ้นต่อมณฑลกรุงเทพฯ เว้นไว้แต่ท้องที่อำเภอหนองจอกให้ยกไปขึ้นกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2474

ต่อมาในปี พ.ศ.2475 ได้มีพระราชบัญญัติให้โอนการปกครองอำเภอหนองจอกจากจังหวัดฉะเชิงเทรามาขึ้นกับจังหวัดพระนคร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2475 เมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 ลงวันที่   13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 อำเภอหนองจอกจึงมีฐานะเป็นเขต

อนึ่ง  ได้มีการย้ายที่ว่าการอำเภอ ในปี พ.ศ. 2499 เนื่องจาก ร.ต.ต.ยรรยง ธีรรัช นายอำเภอสมัยนั้นเห็นว่าที่ตั้งของอำเภอไม่เหมาะสม กับสภาพท้องที่ประกอบกับอาคารที่ว่าการอำเภอชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปสร้างในที่แห่งใหม่ บริเวณหมู่ที่ 2 แขวงกระทุ่มราย เป็นอาคารไม้สองชั้น ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานเขตในปัจจุบัน

ต่อมาในปี   พ.ศ. 2523   ได้รับงบประมาณสร้างอาคารใหม่เพื่อเป็นที่ทำการในบริเวณใกล้กับอาคารเดิมเป็นอาคารคอนกรีต จำนวน 3 ชั้น มี ทางเดินเชื่อมต่อกับอาคารหลังเดิม  และได้ทำการรื้อถอนอาคารไม้หลังเดิม ในต้นปี พ.ศ. 2532 และได้มีพิธีเปิดอาคารหลังใหม่  เมื่อ วันที่  27  ธันวาคม พ.ศ.2533  โดยมี  พันเอกวินัย  สมพงษ์  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน

หมายเหตุ    อำเภอหนองจอก  เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่า เขตหนองจอก ตามประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่า สำนักงานเขตหนองจอก ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528